Memo

เสื้อปักมือ Memo : งานฝีมือที่ค่อยๆ ปักทีละตัว จนเป็นของฝากถูกใจชาวต่างชาติ

จากแรงบันดาลใจที่คุณแม่เป็นช่างเย็บผ้า และคุณป้าเป็นช่างปักเสื้อ มาสู่ความพยายามในการออกแบบลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณสรรเสริญ จนออกมาเป็นสินค้า OTOP 4 ดาว ของจังหวัดนครปฐม (วิสาหกิจชุมชน สหพร) สร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน และกลายเป็นของฝากและของที่ระลึกอันทรงคุณค่าของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

เสื้อปักมือ แบรนด์ Memo ลายหนุมาน ที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ

คุณสรรเสริญ เจ้าของเสื้อปักแฮนด์เมด แบรนด์ Memo (มีที่มาจากคำว่า Memories) ได้นำสินค้าของเขาไปวางขายครั้งแรกๆ ที่ซิเคด้า ตลาดขายสินค้าและของตกแต่งบ้านแฮนด์เมดชื่อดังของหัวหิน ด้วยความตั้งใจของคุณสรรเสริญ เจ้าของแบรนด์ที่ว่า อยากให้สินค้าเสื้อปักทำมือของเขา กลายเป็นของฝาก ที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจที่ประเทศไทย ซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก

คุณสรรเสริญ เจ้าของเสื้อปักแฮนด์เมด แบรนด์ Memo

“แม่เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนเทคนิคการปักจริงๆ ป้าเป็นคนสอนให้ ใช้วิธีแบบเดียวกับการปักแบบกางเกงขาด เสื้อขาด แล้วเอาผ้ามาปักมุม แต่ลายเสื้อต่างๆ เราออกแบบเอง” คุณสรรเสริญ เล่าย้อนถึงแรงบันดาลใจว่า ตนเองเติบโตมาในครอบครัวที่คุณแม่เป็นช่างเย็บผ้า และมีคุณป้าเป็นช่างปักผ้าด้วยความภาคภูมิใจ

ลวดลายเสื้อทั้งหมดภายใต้เสื้อปักแฮนด์เมด แบรนด์ Memo นั้น คุณสรรเสิรญเป็นคนออกแบบเองทั้งหมด “เริ่มแรกไปดูจากสมุดระบายสีเด็ก ก.ไก่ ข.ไข่ เป็นตัวการ์ตูน… แล้วก็มาดัดแปลงเอา คือแขนขาเขาเล็กๆ เราก็มาทำให้มันป่อง พอง กลม ให้มันมองเป็นตัวการ์ตูน เข้ากับงานเรา”

คุณสรรเสริญ เล่าว่า ช่วงแรกที่คิดทำสินค้าที่ว่านี้ขาย ขณะนั้นเขาทำงานเป็นพนักงานบริษัท ใช้วิธีการเทียวไปมาระหว่างจังหวัดนครปฐมและหัวหิน ในช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ปี 2552 พร้อมๆ กับที่ตลาดซิเคด้าเปิดให้บริการ ปัจจุบันได้ดำเนินกิจการมาแล้วเป็นเวลา 13 ปี ยอดขายดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มมองหาช่องทางการตลาดด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มรายรับ

เส้นไหมใหญ่ ลายไม่ซ้ำ มองแล้วสะดุดตา

“เป็นงานที่ภาพรวมมันแตกต่างจากท้องตลาด คือเราใช้ไหมเส้นใหญ่ มันเลยมองแล้วมันสดุดตา บางคนเขามาทำงานตัดต่อชิ้นผ้าเหมือนเราแบบนี้ แต่เขาใช้จักรเย็บ แล้วมันจมไง เย็บแล้วมันใช้สีเดียวกับตัว… แต่เราเป็นงานมือ เราเลยมีโอกาสใช้ไหมเส้นใหญ่ได้ งานเราเลยเด่นกว่างานคนอื่น” คุณสรรเสริญ บอกเล่าถึงจุดเด่นของสินค้า

เสื้อปักลวยลายสัตว์ แต่งสีด้วยผ้าและไหมเส้นใหญ่ที่แตกต่างกัน

คุณสรรเสริญ บอกว่า สินค้าแต่แรกเริ่มจะเป็นเสื้อปักลายการ์ตูนสัตว์ที่เขาบรรจงออกแบบเอง แต่หลังๆ เริ่มมีลวยลายอื่นๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน และดอกไม้ รวมถึงสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น ปลอกหมอน กระเป๋า และกรอบรูป ตามความต้องการของลูกค้า “เราออกแบบไปเรื่อย ๆ เป็นชิ้นเดียว ไม่เหมือนกันเลย… ลายผ้าก็จะแตกต่างกัน แล้วสีไหมก็ต่างกันอีก”

เสื้อปักลายแมว งานแฮนด์เมดที่มีเพียงตัวเดียวในโลก

แต่เมื่อเริ่มมียอดขายมากขึ้น คุณสรรเสริญก็ได้ส่งต่องานปักให้แก่สมาชิกและคนที่สนใจช่วยกันปัก “สมาชิกที่รับงานไป ปักตามไอเดีย ตามจินตนาการเลย แต่เน้นว่าจะต้องให้สีไหมเด่นขึ้นมา อย่างพื้นสีขาว ก็อย่าเอาไหมสีขาว ก็ให้หาไหมเทียบๆ ขึ้นมา ปักแล้วให้มันเด่นขึ้นมา เพราะว่าตัวไหมนี้มันมีราคา ถ้าเราไปปักจมกับตัวพื้นผ้า ถ้าแบบนั้นเอาจักรเย็บจะดีกว่า อันนี้เราต้องการโชว์ในเรื่องของงานฝีมือ เราก็เลยต้องชูตัวเส้นไหมให้มันเด่นขึ้นมา”

ถึงแม้ว่าจะเป็นการส่งต่อให้สมาชิกช่วยกันปัก แต่อย่างไรก็ตาม ลวดลายตัวการ์ตูน เส้นไหม เข็ม และไหมต่างๆ ทางคุณสรรเสริญจะเป็นผู้จัดเตรียมและจัดส่งไปให้ทั้งหมด

เสื้อตามสั่ง ทำตามออเดอร์ลูกค้า

“ไม่มีกำหนดว่าแต่ละเดือนจะได้กี่ตัว แต่จะทำตามออเดอร์… งานเลยยังไม่ได้แบ่งหน้าที่ว่าใครจะทำอะไร เลยยังไม่ลงตัว แต่ตอนนี้ไม่สามารถวัดได้ว่าขายได้กี่ตัว เพราะบางทีเราทำ พรุ่งนี้เราออกไปขายก็ไม่ได้ทำ มันก็นับไม่ได้” คุณสรรเสริญ เล่าให้ฟัง

คุณสรรเสริญ บอกอีกว่า โดยเฉลี่ยแล้วเสื้อเด็ก 1 ตัว จะใช้เวลาในการจัดทำรวมทุกขั้นตอน (ตัดตัวการ์ตูน, แปะ และปัก) ประมาณ 1 วัน ดังนั้น 1 วัน จะสามารถผลิตเสื้อเด็กปักมือแฮนด์เมดได้ประมาณ 1-2 ตัว ส่วนเสื้อผู้ใหญ่จะสามารถทำได้วันละ 1 ตัว

เสื้อลายม้า ตามออเดอร์ของลูกค้า

“เป็นงาน handmade งานปักจริง เพราะเส้นไหมที่เราใช้ เป็นเส้นใหญ่ จะไปเข้ากับเครื่องจักร หรือเครื่องจักรไม่ได้เลย… เพราะฉะนั้น เส้นไหมที่เราใช้อยู่ จะต้องมืออย่างเดียว เป็นงาน handmade งานมืออย่างเดียวถึงจะทำได้” คุณสรรเสริญ เน้นย้ำถึงขั้นตอนการผลิต

“แต่ละดีไซน์ แต่ละตัว ก็จะหมุนเวียนลายผ้า เข้าไปในส่วนตา ส่วนหู ส่วนตัว เพราะฉะนั้นลายผ้าในตัวช้าง ก็จะไม่เหมือนกันสักตัวเลย แล้วยังมีเส้นไหม เราใช้สีต่างๆ สลับสี เปลี่ยนตรงสีไหมได้อีก มันก็จะไม่ค่อยได้ซ้ำเท่าไหร่ ก็ถือว่าเป็นสินค้าหนึ่งชิ้นในโลก ต่อหนึ่งครั้งในการทำ คนซื้อไปก็ได้เห็นคุณค่าของงานปักด้วย” คุณสรรเสริญ กล่าวด้วยความภูมิใจ

ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายที่รับเสื้อจากคุณสรรเสริญไปปัก ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุประมาณ 50-60 ปี จะได้รายรับประมาณคนละ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน

ขณะเดียวกัน ถ้าหากคนรุ่นใหม่สนใจ ก็สามารถมาเรียนรู้วิธีการปักได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย “เรายินดีถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อยากจะหารายได้เสริม หรือว่าอยากจะเรียนรู้งานด้านนี้ ยินดีที่จะสอนให้ สามารถติดต่อทางเพจ เสื้อปักมือ Memo มีสอนเป็นระยะ”

กลุ่มลูกค้าและแผนการตลาด

“คือเราค่อนข้างพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก 80% เป็นชาวต่างชาติที่สนใจงานเรา”

คุณสรรเสริญ เล่าถึงประสบการณ์การขายเสื้อยืดปักแฮนด์เมดที่ผ่านมาว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เป็นคุณย่า-คุณยาย ที่ต้องการเลือกซื้อของฝาก-ของที่ระลึกให้กับลูกหลานที่เป็นชาวต่างประเทศ และบางคนก็เป็นลูกค้าประจำ อุดหนุนเราติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจของคุณสรรเสริญกำลังไปได้ดี เพราะสามารถเจาะตลาดนักท่องเที่ยวได้ถูกกลุ่ม แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดขายตกลงอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณสรรเสริญก็พยายามหาช่องทางไปออกบูทร่วมกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น

เสื้อปักมือ ในฐานะ Product of Thailand

“ส่วนใหญ่จะออกบูทกับหน่วนงานราชการ อะไรที่ชาวต่างชาติเดิน แล้วจะขายดี เพราะลูกค้าลูกซื้อไปฝากญาติ ทีละ 10-20 ตัว… ลูกค้ามีกำลังซื้อก็จะโอเค คือถ้าไปขายในที่ที่ใช่” คุณสรรเสริญ เล่าให้ฟัง

ปัจจุบัน ต่างประเทศเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ซึ่งยังถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย แต่ในเดือนธันวาคม 2565 นี้ แบรนด์ของคุณสรรเสริญ ได้รับเชิญไปออกบูทงานคราฟต์ 1 ใน 4 ของประเทศไทย ในงานคราฟต์โลก ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินเดีย

“วันก่อนไปขายเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วมีคนมาเห็นว่าขายกับคนอินเดียแล้วขายได้ เขาก็เลยเชิญไปออกบูทที่อินเดีย… เขามีคนรุ่นใหม่ ที่เขาใส่เสื้อยืด เขาก็มาเชิญเราไป” คุณสรรเสริญ บอกเล่าที่มาที่ไป ของการได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนงานคราฟต์ของประเทศไทย

คุณสรรเสริญ กล่าวถึงแผนการตลาดในอนาคตว่า “เหมือนว่าเราเปิดช่องทางการตลาด ถ้าเกิดว่าเราไปจำหน่ายตรงนั้นแล้วมีใคร คิดอยากเอาไปทำการตลาด เราขายส่งได้ รับไปในลักษณะขายส่งได้ยิ่งดี ไม่ใช่ฝากขาย เพราะฝากขายต้นทุนมาอยู่ที่เรา แต่ถ้าขายส่ง เขาซื้อขาดไปเลย เงินจะได้มาอยู่ที่เรา อยากจะทำการตลาดแบบขายส่ง”

สินค้า OTOP 4 ดาว ของจังหวัดนครปฐม (วิสาหกิจชุมชน สหพร)

“ผมขอมาตรฐานเกือบทุกอย่างเลย G มาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น Green Production ส่วน G อีกตัวเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็น Green Industries” คุณสรรเสริญบอกเล่าถึงความพยายามในการพัฒนาแบรนด์ ที่ผ่านมา คุณสรรเสริญ ได้พยายามติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการการพัฒนาและรับรองสินค้าที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ ผ่านการนำสินค้าต่างๆ ไปร่วมโครงการที่แต่ละกระทรวงจัดการรับรอง “เราพยายามจะหามาตรฐานไปให้ได้มากที่สุด พยายามจะหามาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า” นับว่าบทบาทผู้ประกอบการของคุณสรรเสริญที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้อยู่เสมอและยังคงสร้างสรรค์งานฝีมือต่อไปในอนาคต