โอ๋ พอเพียง

“ร้านค้าชุมชนยิ้มสวยบ้านห้วยปลาดุก” พื้นที่ให้เกษตรกรได้ทดลองเป็นผู้ประกอบการ

“เราจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างไร?” เป็นคำถามอยู่คู่กับประเทศไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน คุณโอ๋ เกษตรกรในบ้านห้วยปลาดุก  อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ก็มีคำถามเช่นนั้นอยู่ในใจมาตลอด จากการสังเกตเห็นวัฏจักรความยากจน และหนี้สินเกษตรกรที่เกิดวนเวียนซ้ำไปมา จึงได้ออกตัวเป็นแกนหลักตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมกันเรียนรู้หาแนวการทำเกษตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในชุมชนได้

เกิดเป็น“ร้านค้าชุมชนยิ้มสวยบ้านห้วยปลาดุก” จุดศูนย์รวมสินค้าการเกษตรที่เปิดให้เกษตรกรนำผลผลิตมาวางขายกันโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถกำหนดราคาได้เอง ด้วยแนวคิดเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจที่พึ่งพากันในชุมชน และพื้นที่สำหรับทดลองให้เกษตรกรได้ลองมาเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ 

การเริ่มต้นรวมกลุ่มที่ไม่สวยงามนัก

“เหตุมันเกิดจากที่ว่าเกษตรกรขายผลผลิตที่เขาลงแรงทำทุกวันทุกเดือน ให้พ่อค้าคนกลางแต่กลับยิ่งเป็นหนี้ งั้นเรามาลองรวมกลุ่มลงทุนด้านการเกษตรกันดูไหม” การที่คุณโอ๋เกิดและเติบโตในชุมชนห้วยปลาดุก   สังเกตเห็นวัฏจักรหนี้สินของเกษตรกรของคนในชุมชน ที่ยิ่งทำเกษตรยิ่งจนยิ่งเป็นหนี้ และส่งต่อความจนสู่คนรุ่นต่อไป จึงมีความคิดที่อยากลองหาวิถีการทำเกษตรรูปแบบใหม่เข้ามาพัฒนาชุมชน ให้หลุดพ้นจากความยากจนเหล่านั้น

ทำให้คุณโอ๋เกิดไอเดียที่จะลองชวนเกษตรกรในชุมชน รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ออกขาย ในกลุ่มมีเกษตรกร 20 คน เริ่มจากชักชวนกันในเครือญาติที่มองเห็นปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยกันขับเคลื่อนวิสาหกิจนี้  แบ่งหน้าที่กันคนละอย่าง ไปซื้อมูลวัว รวบรวมเศษอาหาร เพื่อมาทำปุ๋ยหมัก ด้วยความคิดที่ว่าอย่างน้อยเป็นการลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยจากข้างนอกชุมชนมาใช้ 

“แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ สุดท้ายคนก็กลับไปทำเคมีแบบเดิม” คุณโอ๋ เล่าให้ฟังว่าในช่วงแรกผลลัพธ์ออกมาดี มีการซื้อขายปุ๋ยกันเองในชุมชนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจย่อมๆ แต่ด้วยคนส่วนใหญ่ของชุมชนยังทำเกษตรแบบใช้สารเคมี ทำให้ในกลุ่มเกิดการเปรียบเทียบกับเกษตรแบบอินทรีย์ที่ได้ผลตอบแทนช้าเพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้หลังจากผ่านไป 1 ปีคนในกลุ่มเริ่มกลับไปทำเกษตรเคมีเหมือนเดิม

“เป็นปัญหาเวลาเอาความคิดใหม่ๆไปให้ เขาจะไม่เข้าใจ เพราะเขาเคยทำแบบนั้นมาตลอด” แม้จะรู้สึกท้อบางเวลากับความล้มเหลวในการพยายามเปลี่ยนความคิดคนในกลุ่ม ให้ลองเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรแบบที่เป็นอยู่ เพราะมองว่าการทำวิธีเดิมย่อมได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ แต่สิ่งที่คุณโอ๋มุ่งทำต่อไปคือการพยายามสร้างผลลัพธ์ที่ดีเพื่อพิสูจน์แนวทางของเขาให้ชาวบ้านเห็น

เกิดร้านค้าชุมชนยิ้มสวยบ้านห้วยปลาดุก กับความมุ่งมั่นเดิมที่อยากยกระดับชีวิตคนในชุมชน

เมื่อรู้ว่าการทำเกษตรอินทรีย์ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตของคนในชุมชนในห้วงเวลานี้ คุณโอ๋จึงชวนคนในกลุ่มมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง ด้วยความมุ่งหวังเดิมคือยังอยากจะหาวิธียกระดับชีวิตให้กับเกษตรกรในชุมชน จึงออกมาเป็นรูปแบบร้านค้าชุมชนดีมีรอยยิ้มบ้านห้วยปลาดุก จุดประสงค์เพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องการขายให้พ่อค้าคนกลางที่เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ คุณโอ๋จึงใช้ที่ดินของตัวเองมาทำเป็นร้านค้าที่เปิดให้คนในชุมชนนำผลผลิตการเกษตรมาวางขาย ซึ่งเกษตรกรจะแบ่งผลผลิต 5 – 10 % จากที่เคยขายให้พ่อค้าคนกลางตามระบบปกติ มาวางขายในร้านค้า โดยจะสามารถกำหนดราคาเองได้ “เวลาไปขายพ่อค้าคนกลางเรากำหนดราคาไม่ได้เลย เราเลยชวนให้แบ่งซัก 5 เปอร์เซนต์มาขายที่ร้าน คนนี้เอากล้วยมา คนนั้นเอาพริกมา รวมกันเลยเกิดเป็นร้านค้าชุมชนแบบบ้านๆ ของเรา ”

จากเดิมที่เป็นการซื้อ-ขายกันเองเฉพาะในชุมชน จนเริ่มมีคนภายนอกที่ผ่านไปมาแวะเวียนเข้ามาซื้อของจากร้านค้ามากขึ้น ซึ่งอีกจุดมุ่งหมายหนึ่งคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านที่มีความรู้เพียงเฉพาะการเพาะปลูก ให้เข้าใจการเป็นผู้ประกอบการ การตั้งราคาขาย การหาตลาด รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ “เรามีสองมือกับสมองเปล่าๆ เราเลยต้องออกไปเรียนรู้” รวมถึงคุณโอ๋เองก็พยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติม โดยออกไปเข้าร่วมการอบรมตามที่ต่างๆที่มีการจัดให้ความรู้ ด้านการพัฒนาธุรกิจชุมชน  เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้กับร้านค้าชุมชน

การได้ออกไปเรียนรู้กับคนที่มีความรู้มากมาย ได้เห็นโมเดลธุรกิจเพื่อชุมชนในพื้นที่อื่นๆ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณโอ๋ ถ่ายทอดไปยังคนอื่นๆ ในกลุ่ม และเริ่มเห็นแนวทางการพัฒนาร้านค้าชุมชนของพวกเขา ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะเป็นไปได้ในทิศทางที่ดี เริ่มมีคนสนใจนำสินค้าเข้ามาขายกันมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือการสร้างระบบธุรกิจให้ร้านค้ายั่งยืน อย่างเช่น การที่ทุกวันนี้เปิดให้มีคนในกลุ่มเข้ามาวางขายสินค้าฟรี โดยยังไม่มีการเก็บค่าส่วนแบ่ง ทำให้ยังไม่มีเงินหมุนในระบบเพื่อนำไปต่อยอดทำสิ่งต่างๆ ทั้งยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการเงินทุนของผู้ค้าที่ยังไม่ลงตัว

“เรื่องการอยากพัฒนาบ้านเกิดเรามันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว การได้อบรมต่างๆ ทำให้เราเริ่มรู้ระบบการตลาด แล้วลองเอามาทำดูจริงๆ ให้เห็นถึงความเป็นไปได้” คุณโอ๋ ก็มองว่าตัวเองไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการทำธุรกิจมากกว่าคนอื่นๆ เพียงพยายามนำความรู้จากการเรียนรู้ข้างนอก มาชวนคนในชุมชนให้ใช้พื้นที่ร้านค้าชุมชนยิ้มสวยบ้านห้วยปลาดุก เป็นพื้นที่ร่วมกันทดลองเรียนรู้ธุรกิจในชุมชน ด้วยความเชื่อร่วมกันที่ว่าหากคนในชุมชนรวมกลุ่ม จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน

ปัจจุบันกลุ่มของคุณโอ๋มีสมาชิกอยู่ 30 คน เพิ่มจากเดิมที่มี 20 คน “การที่กลุ่มขยายเพิ่มถือว่าเป็นความสำเร็จอีก 1 ก้าว สำหรับผม การที่มีคนจนที่เป็นหนี้เป็นสินเข้ามาในกลุ่มเป็นเรื่องดีมาก” คุณโอ๋มองว่า การที่คนที่มีปัญหาการเงินเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มเพิ่มนั้น แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีคนในชุมชนที่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มมากขึ้น ซึ่งแผนงานต่อไปสำหรับคุณโอ๋และกลุ่ม คือความพยายามจัดระบบร้านค้าชุมชน เช่น เริ่มเก็บส่วนแบ่งเล็กๆ น้อยๆ จากสมาชิกที่นำสินค้ามาขายเพื่อให้มีเงินหมุนเวียน สามารถนำไปต่อยอดสิ่งต่างๆ ที่จะนำมาสู่การมีระบบการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

รวมถึงมีแผนที่มองหาตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าออกไปขายนอกชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่เน้นซื้อขายกันเองในชุมชนกับลูกค้าที่สัญจรผ่านไป-มา เป็นความท้าทายอย่างนึงในการนำสินค้าออกไปขายนอกชุมชนเองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ต้องอาศัยการบริหารจัดการอีกหลายอย่าง ทั้งยังมีโครงการ “แปลงเกษตรพอเพียง” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะหารายได้ด้วยการรับจ้างทั่วไปในชุมชน หรือเข้าไปทำงานตามโรงงานในเมือง โดยการเปิดให้คนกลุ่มนี้เข้ามาทำเกษตรในที่ดินส่วนกลางของกลุ่ม เพื่อจะให้มีรายได้เพิ่มเป็นรากฐานรับรองของชีวิต

นอกจากนั้นคุณโอ๋ ยังคิดว่าจะผลักดันให้เกิดการทำเกษตรอินทรีย์ขึ้นในกลุ่มอีกครั้ง เพราะมองว่าเป็นแนวทางเกษตรที่โดยภาพรวมแล้วจะนำความสุขมาสู่เกษตรกร แม้ว่าต้องใช้เวลามากขึ้นในการได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่อย่างน้อยก็เป็นการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการใช้ปุ๋ยจากวัตถุดิบที่หาได้ท้องถิ่น ยังทำให้สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมดีตามไปอีกด้วย “ผมไม่ยอมแพ้อยู่แล้ว เพราะถ้าเกษตรกรอย่างเราไม่ทำ จะไปหวังให้คนอื่นเข้ามาทำให้เราก็ไม่ได้” คุณโอ๋กล่าว สำหรับคุณโอ๋แล้วร้านค้าชุมชนบ้านห้วยปลาดุก เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ลองผิดลองถูกหาทิศทางการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยคนที่รู้ปัญหาจริงคือคนในชุมชนเอง