ความลับของขนมไทย: คำบอกเล่าจาก ร้านรินขนมไทย ที่เปิดขายยาวนานกว่า 50 ปี

หากใครได้มีโอกาสแวะเที่ยวมาถึงจังหวัดที่น่าต้องมนต์อย่างฉะเชิงเทราแล้ว ทุกคนต่างรู้กันดีว่านอกจากการไปไหว้ “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้วแล้ว เมื่อขับรถห่างออกไปจากวัดเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น ยังมีของดีของเด็ดที่คนจากทั่วสารทิศเมื่อมาแล้วก็พลาดกันไม่ได้ ชนิดที่ว่าหากไม่ได้ไปเยือนหรือลิ้มลองก็คงเหมือนมาไม่ถึงฉะเชิงเทรานั่นก็คือ “ร้านรินขนมไทย” ร้านขนมไทยไม่ธรรมดาที่ได้ถ่ายทอดสูตรขนมไทยแท้ ที่ส่งต่อเรื่องราวความหอมหวานเเละบรรจงประณีตในกรรมวิธีการรังสรรค์ขนมที่ถ่ายทอดมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น จนตอนนี้เปิดร้านมาแล้วยาวนานถึง 50 ปี

ขนมไทยหลากชนิดจากร้านรินขนมไทยของดีเมืองแปดริ้ว
จากภาพประกอบด้วย กระยาสารทน้ำอ้อย หัวผักกาดหวาน ข้าวตังหน้ากุ้ง ฝอยเงินคำ ฝอยทองคำ ทองหยอด วุ้นมะพร้าวอ่อน และกะละแม

สูตรขนมไทย ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

คุณยาย เจ้าของร้านรินขนมไทย วัย 80 ปี เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มที่เปี่ยมไปด้วยความภูมิใจ เธอพูดถึงขนมชนิดแรกของร้านว่า เป็นสิ่งที่เธอพยายามสร้างมันขึ้นมากับมือเมื่อหลายสิบปีก่อนกับครอบครัวจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบต่อกันมา ที่ใครๆ ในละแวกบ้านนั้นก็ต่างบอกว่าครอบครัวของเธอนั้นทำขนมอร่อย แต่เพราะอะไรกันที่จากจุดเริ่มต้นของครอบครัวที่มีธุรกิจทั่วๆไปในอดีต ได้เปลี่ยนมาขึ้นแท่นสู่การเป็นร้านขนมไทยในตำนานที่ทุกคนก็ต้องแวะมาชิมเองถึงฉะเชิงเทรา 

คุณยายและลูกสาว ‘คุณริน’ ที่มาของชื่อร้านรินขนมไทย

“ตอนนั้นยายต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนจากธุรกิจขายไก่ที่ทางบ้านทำอยู่มานาน ไปทำมาหากินอย่างอื่น พอหลังแต่งงานยายก็คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงก่อนวันสารท 6-7 วันได้ สามีของยายแนะนำให้ลองทำขนมขาย แล้วนึกได้ว่าตอนเด็กที่บ้านครอบครัวชอบทำขนมกระยาสารทกินช่วงวันสารท เลยตัดสินใจลองทำขายจนมาถึงตอนนี้ ร้านก็เปิดมา 50 ปีแล้ว และเดี๋ยวนี้ก็ขายดีจนในร้านก็มีขนมไทยอีกหลายชนิดตามมา เราใส่ใจกับขนมทุกชนิดที่เราทำมาก” คุณยายเล่าถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจทำขนมไทยขาย

วัตถุดิบเป็นหัวใจสำคัญของ “ร้านริน”

“ริน” เป็นชื่อของลูกสาวคุณยาย เพราะต้องการฝากฝังร้านขนมไทยให้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากภูมิปัญญาในด้านการทำขนมไทยของคนในบ้าน ตั้งแต่สมัยที่ยายช่วยพ่อแม่ผู้ใหญ่ในบ้านทำตอนยังเล็กนั่นเอง ที่ทำให้ร้านนี้มีชื่อเสียงและมีรสชาติของขนมที่สร้างประสบการณ์การกินขนมหวานที่พิเศษกว่าขนมเจ้าอื่น ให้ผู้ที่แวะเวียนเข้ามาทั้งหน้าใหม่และเก่าหลงใหล

การสืบทอดวิธีการอย่างพิถีพิถันบวกกันความคิดสร้างสรรค์ของคุณยายที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด จึงทำให้ความหอมหวานและรสสัมผัสของขนมราวกับต้องมนต์ เพราะมีสิ่งหนึ่งที่เธอเชื่อมาเสมอคือ วัตถุดิบของขนมเป็นหัวใจสำคัญ ที่แม้แต่กระยาสารทที่มีส่วนผสมเพียงไม่กี่ชนิดและดูหน้าตาไม่ซับซ้อน แต่ก็ทำให้คนต้องกลับมากินอีก เพราะต้องเลือกของที่มาทำเองกับมือและคำนึงถึงคุณภาพของขนมเป็นอย่างแรก

วัตถุดิบและความใส่ใจของคนทำคือหัวใจสำคัญของ ร้านรินขนมไทย

“ร้านของเราไม่เหมือนใครในเรื่องการเลือกใช้วัตถุดิบ อย่างกระยาสารท ปกติจะใช้น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย แต่ร้านเราจะใช้น้ำอ้อยที่ผ่านกระบวนการเคี่ยวกับมือจนมีลักษณะเป็นน้ำผึ้ง” คุณยาย เล่าถึงวัตถุดิบสำคัญของขนมกระยาสารท

ข้าวเม่าหมี่ที่มีส่วนผสมที่ทางร้านเลือกเองและคัดสรรเองกับมือ

คุณยาย เล่าให้ฟังอีกว่า ส่วนของขนมข้าวเม่าต้องเป็นข้าวจ้าวจากทางภาคเหนือ เพราะมีความกรอบทุกเม็ด และหากเป็นถั่วลิสงและงาต้องมาจากชลบุรี ทั้งนี้ ทางร้านจะเดินทางไปดูสินค้าและคุยกับผู้ปลูกวัตถุดิบโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้สามารถค้าขายระหว่างกันได้ในระยะยาว และรับซื้อผลผลิตได้อย่างสดใหม่

เสาะหาวัตถุดิบ ไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง

แม้ในตอนนี้กระยาสารทจะเป็นขนมที่ขายดีที่สุดในร้าน แต่ขนมไทยอื่นๆ นั้นก็ขายดีและเป็นที่นิยมไม่แพ้กันและได้รับการยอมรับในรสชาติและคุณภาพอย่างกว้างขวาง ขนาดที่ว่าขนมไทยจากร้านคุณรินได้ไปออกรายการโทรทัศน์อย่าง “ครัวคุณต๋อย” มาแล้วถึง 4 ครั้ง

ร้านรินมีบริการรับสั่งทำขนมหวานไทยชนิดต่างๆ ทั้งชุดไหว้ขนมมงคลไปจนถึงขนมหรือของว่างระหว่างงานประชุมต่าง ๆ ภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา

คุณยายได้บอกเล่าเสมอว่า สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของขนมเลื่องชื่อนั้น มีเบื้องหลังคือความใส่ใจและวัตถุดิบที่เลือกเองกับมือที่แทบจะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะทางร้านต้องการรู้ถึงพื้นหลังดินที่ใช้ปลูกอ้อยและข้าวรวมไปถึงคุณภาพของวัตถุดิบก่อนจะลงมือแปรรูปออกมาเป็นขนมอร่อยกลมกล่อม

ร้านรินขนมไทย มีความพิถีพิถันและความสนใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ลืมที่จะใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับสูตรขนม โดยสิ่งนี้เองที่ทำให้ขนมร้านคุณรินมีความพิเศษต่างจากร้านอื่น เช่น นำไข่แดงทำขนม ส่วนไข่ขาวที่เหลือจะนำมาทำขนมหม้อแกง ซึ่งช่วยให้ขนมมีรสชาติไม่เลี่ยนและไม่เหลวจนเกินไป อีกทั้งยังใส่เผือกเพื่อสร้างรสชาติหอมหวานความแปลกใหม่ในแบบที่ผู้คนไม่เคยได้กินมาก่อนลงไป

นอกจากนี้ ส่วนของขนมที่เป็นตัวชูโรงของร้านอย่างกระยาสารทก็ได้มีการโรยถั่วลิสงที่สับเองกับนิ้วโรยลงไปบนขนมกระยาสารท เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน โดยถั่วลิลงหนึ่งซีกจะสับได้ถึง 120 ชิ้น หากถั่วหนึ่งเม็ดก็ 240 ชิ้นทีเดียว พิสูจน์ได้ถึงการเอาใจลงไปใส่ในการทำสิ่งที่รักส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค

แผนการตลาด สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

“ช่วงสองสามปีแรกที่เปิดร้านก็ยังขายไม่ค่อยได้เท่าไหร่เพราะคนยังไม่รู้จัก คราวจะเอาไปเร่ขายตามตลาดก็เหมือนว่าจะมีร้านขนมเจ้าถิ่นอยู่แล้ว เราเลยต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนรู้จักขนมเราเยอะๆ พอมีงานขนมที่สวนลุมพินีที่กรุงเทพเราก็เอาไปขาย ไปกลับทุกวันเช้าเย็นแทบไม่ได้นอนเลย พยายามทำอยู่แบบนั้นจนคนกินมาซื้อเค้าว่าอร่อยก็จำได้ พอคนเริ่มรู้จักเรา เราก็เริ่มทำขนมไทยอย่างอื่น” คุณยาย เล่าความพยายามในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นสร้างร้าน กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายเลย

“เราไม่ต้องเดินทางเข้าไปขายในกรุงเทพตลอด เพราะถ้าคนจำได้จะตามมากินเอง ตอนนี้เราก็ขายแค่ที่บ้านอย่างเดียวหากใครอยากกินต้องแวะมาซื้อถึงที่” คุณยาย กล่าว

แม้ร้านรินขนมไทยจะเป็นร้านที่มีชื่อเสียงยาวนานจนกลายเป็นตำนาน แต่บนเส้นทางธุรกิจขนมหวานไทย ก็ไม่ได้สวยงามราบรื่นมาตั้งแต่แรกอย่างที่ใครๆ จินตนาการไว้ เมื่อคุณยายเล่าย้อนกลับไป เธอก็ได้เล่าถึงเส้นทางการทำร้านขนมว่านอกจากการจะทำขนมอร่อยมีคุณภาพ เราต้องมีวิธีการหาเครือข่ายและสร้างชื่อขนมให้เป็นที่รู้จัก

ขนมใบจาก ของฝากจาก ร้านรินขนมไทย จังหวัดฉะเชิงเทรา

“เดี๋ยวนี้ลูกค้าที่มาซื้อพอไหว้หลวงพ่อโสธรเสร็จก็จะต้องขับมาซื้อกระยาสารทติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ตอนนี้ขนมร้านเราเป็นของดีจังหวัดฉะเชิงเทราไปแล้ว” คุณยาย กล่าวถึงกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน

นอกจากการสร้างชื่อเสียงจากคนกินที่บอกกันปากต่อปากในฐานะของดีของอร่อยจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว คุณยายก็ยังมีความฝันที่จะส่งออกขนมไทยให้ไปสร้างชื่อเสียงได้ไกลกว่าการกล่าวขวัญกันในประเทศ ทั้งกระยาสารทและขนมไทยอื่นๆ ได้มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่มีตลาดธุรกิจใหญ่อย่างประเทศจีน

ในอนาคตอันใกล้นี้ คุณยายและคุณรินทายาทรุ่นที่สองยังมีแผนที่จะส่งออกในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารและทำให้ขนมไทยเป็นที่รู้จักในวงการขนมโลก และยังคงเน้นกรรมวิธีดั้งเดิมเพื่อยังคงเอกลักษณ์ขนมไทยโบราณในกระแสวัฒนธรรมโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง